Sunday, June 19, 2011

การที่พระธรรมจะรุ่งเรืองในโลกเป็นของยาก




พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้กลายเป็นน่านน้ำเดียวกัน บุรุษพึงโยนแอกมีช่องเดียวไปในน้ำนั้น ลมในทิศตะวันออก พึงพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศตะวันตก ลมทิศตะวันตกพัดเอาไปทางทิศตะวันออก ลมทิศเหนือพัดเอาไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดเอาไปทางทิศเหนือ เต่าตาบอดในห้วงน้ำนั้นจะโผล่ขึ้นมาหนึ่งครั้งทุก ๆ ระยะเวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปี เธอจะเห็นข้อนั้นอย่างไร เต่าตาบอดนั้น...จะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกที่มีช่องเดียวนั้นบ้างหรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "การที่เต่าตาบอด จะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกที่มีช่องเดียวนั้น เป็นของยาก"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก การที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกที่เป็นของยาก การที่พระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านได้ความเป็นมนุษย์แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ในโลก เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้อริยมรรคมีองค์ ๘"

(จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉิคคฬสูตรที่ 2)


เพื่อนชาวพุทธร่วมสมัยทั้งหลาย ชีวิตมนุษย์นี้แสนสั้นนัก อย่าปล่อยให้ตนเป็นโมฆบุรุษ คือบุรุษผู้สูญเปล่า เกิดมาเพื่อตายเปล่า


เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้อุบัติขึ้นแล้ว เราจงรีบเร่งทำความเพียรตามทางพระศาสดา เพื่อเข้าสู่กระแสพระนิพพานกันเถิด


ให้สมดังคำปัจฉิมวาจาของพระพุทธองค์ว่า


“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา.. ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด.. นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย ของเราตถาคต ”

กล่าวคำที่มีค่าแก่ทุกคน...ธรรมสวัสดี

“เพราะอยากให้เป็นมากกว่า คำทักทาย
และอยากให้เป็นมากกว่า คำพูดง่ายดาย
ให้คำหนึ่งคำนี้มีความหมาย มากกว่า ที่เคยเป็นมา
สวัสดี...สวัสดี...สวัสดีด้วยธรรมะ สวัสดี...สวัสดี...สวัสดีด้วยธรรมะ
สวัสดีมีชัยให้ไร้โรคา...อย่าให้หมู่มารใดมา ทำร้ายตัวเธอ
สวัสดี...สวัสดี...สวัสดีด้วยธรรมะ สวัสดี..สวัสดี สวัสดี ด้วยธรรมะ
สวัสดีจากใจกว่าที่เคยเป็นมา...กล่าวคำที่มีค่าแก่ทุกคน...ธรรมสวัสดี”

Saturday, June 18, 2011

มงคลสูตร 38 ประการ




ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความโดยพิศดารถึงสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า การมีสิ่งของ เช่นต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวาดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสูธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการดังกล่าว

1. ไม่ให้คบคนพาล (เพื่อจะได้ไม่ตกต่ำในทางที่ชั่ว)
2. ให้คบบัณฑิต (เพื่อให้พบแต่ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต)
3. ให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา (เพื่อให้เกิดแบบอย่างที่ดี)
4. ให้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (เพื่อสะดวกในการศึกษาเล่าเรียน)
5. ให้สะสมบุญเรื่อยไป (เพื่อเป็นทุนไปสู่ความสุขสำเร็จ)
6. ให้ตั้งตนไว้ชอบ (เพื่อให้มีเส้นทางชีวิตที่ถูกต้อง)
7. ให้เป็นผู้ฟังมาก (เพื่อจะได้มีความรอบรู้)
8. ให้ศึกษา ศิลปวิทยา (เพื่อให้มีพื้นฐานการประกอบอาชีพการงานที่ดี)
9. ให้มีระเบียบวินัยดี (เพื่อให้มีหลักการที่ดีในการดำรงชีวิต)
10. ให้มี วาจาสุภาษิต (เพื่อให้เกิดความมีเสน่ห์ในตัวเอง)
11. ให้ บำรุงบิดามารดา (เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณคน)
12. ให้ สงเคราะห์บุตรธิดา (เป็นแบบอย่างที่ดี)
13. ให้ สงเคราะห์ภรรยา (เป็นการแสดงความรับผิดชอบ)
14. ไม่ให้การงานอากูล (กิจการงานใดไม่คั่งค้าง)
15. ให้ บำเพ็ญทาน (จิตใจจะมีเมตตาสูง)
16. ให้ ประพฤติธรรม (เพื่อความสงบของชีวิต)
17. ให้ สงเคราะห์ญาติ (เกิดเคราะห์ร้ายก็มีญาติช่วย)
18. ให้ ประกอบการงานดี ไม่มีโทษ (อาชีพสุจริตชีวิตปลอดภัย)
19. ให้ เว้นจากการทำบาป (เพื่อไม่ต้องชดใช้หนี้กรรม)
20. ให้ เว้นจากการเสพของเมา (ให้เป็นคนมีสติอยู่เสมอ)
21. ไม่ให้ประมาทในธรรมทั้งหลาย (ให้มีความคิดรอบคอบ)
22. ให้ เคารพบุคคลที่ควรเคารพ (เราจะได้รับความเคารพตอบ)
23. ไม่ให้เย่อหยิ่ง (จะมีคนให้ความนับถือ)
24. ให้ มีสันโดษ (จิตใจจะไม่วุ่นวาย)
25. ให้ มีความกตัญญู (เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี)
26. ให้ ฟังธรรมตามกาล (เพื่อให้มีดวงตาเห็นธรรม)
27. ให้ มีขันติ (จิตใจจะมีความสุขสงบ)
28. ให้ เป็นผู้ว่าง่าย (ทำให้ได้รับความรักจากผู้อื่น)
29. ให้ เข้าหาสมณะผู้สงบ (ทำให้เข้าใจธรรมะที่แท้จริง)
30. ให้ สนทนาธรรมตามกาล (ทำให้มีปัญญาเพิ่มพูล)
31. ให้บำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดไป (ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน)
32. ให้ ประพฤติพรหมจรรย์ (ออกบวช หรือ บวชใจด้วยเนกขัมมบารมี)
33. ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ (ให้ตระหนักรู้ในทุกข์ และเหตุที่เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์)
34. ให้ทำนิพพานให้แจ้ง (วิปัสสนาภาวนาจนได้นิโรธสมาบัติ)
35. ไม่ให้จิตหวั่นไหวในโลกธรรม (ทำจิตไม่ให้ติดยึดในลาภ/ยศ/สรรเสริญ/สุข)
36. ไม่ให้จิตเศร้าหมอง (ทำจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)
37. ไม่ให้จิตมีมลทิน (ทำจิตให้เป็นอุเบกขาตลอดเวลา)
38. ให้มีจิตเกษม (ไม่ให้มีเครื่องดึงรั้งไว้ในภพคือถึงซึ่งพระนิพพาน)


มังคะละสุตตัง

อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา

ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา

อัตตะสัมมาปะณิธิจะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

พาหุสัจจัญจะ สัปปัญจะ วินะโย จะ สุสิกขิโต

สุภาสิตา จะ ยา วาจา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

มาตาปิตุอุปัฏฐานัง ปุตตะทารัสสะ สังคะโห

อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ ญาตะกานัญจะ สังคะโห

อะนะวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

อาระตี วิระตี ปาปา มัชชะปานา จะ สัญญะโม

อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

คาระโว จะ นิวาโต จะ สันตุฏฐี จะ กะตัญญุตา

กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ

ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง

กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ